วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

คนของแผ่นดิน

สวัสดีครับ
ผมนายกฤษณะ  สาลีเจริญ
ปัจจุบันสอนนักเรียนอยู่ที่โรงเรียนนาบ่อคำวิทยาคม
อ.เมือง จ.กำแพงเพชร
หากจะถามว่าผมเป็นใคร ทำอาชีพอะไร
คงตอบได้ไม่ยากนะครับ ผมคือคนของแผ่นดิน
ผู้ที่ทำหน้าที่ตอบแทนคุณของแผ่นดินเกิดอย่างสุดความสามารถ
คนที่ทำภารกิจที่ยิ่งใหญ่ ด้วยการปลูกฝังความรู้ และค่านิยมที่ดีงาน
แก่บุคคลที่ต้องการความรู้ ไม่เพียงต่อนักเรียน หรือเด็กๆเท่านั้นที่ผมสอน
ผมยังทำงานตอบแทนชุมชนโดยใช้โครงการพิเศษต่างๆ
ด้วยความที่สำนึกในแผ่นดินที่เกิดมา

หนังสือดีที่น่าอ่าน

 
ในบรรดานวนิยายว่าด้วยการผจญภัยในป่าเขาราวไพรของไทย เป็นที่ยอมรับกันว่าผลงานของ “น้อย อินทนนท์” อันเป็นนามแฝงของมาลัย ชูพินิจ นักประพันธ์คนสำคัญ ชุด ล่องไพร เป็นเรื่องที่ผู้อ่านนิยมชมชอบมากที่สุด โดยงานเขียนในชุดนี้มีอิทธิพลอย่างสูงต่อแนวการสร้างงานนิยายผจญภัยของไทยในระดับเดียวกับเรื่อง เพชรพระอุมา ของพนมเทียน นักเขียนอีกคน แม้จะมีแง่มุมท่วงทำนองของการเขียนจะแตกต่างกันค่อนข้างมากก็ตาม

น้อย อินทนนท์ ได้สร้างนวนิยายการผจญภัยในป่าดงดิบ ขึ้นในท่ามกลางบรรยากาศวรรณกรรมไทยร่วมยุคสมัยซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องเพ้อฝัน รักโรแมนติก พงศาวดารจีน โดยเริ่มแรกปรากฏเป็นบทวิทยุสำหรับออกอากาศที่บริษัทไทยโทรทัศน์ก่อนจะรวมพิมพ์เป็นเล่ม รวมทั้งยังได้มีการนำมาสร้างเป็นละครเวทีแสดงที่โรงหนังเฉลิมไทย ละครโทรทัศน์ จนถึงภาพยนต์ชุดในเวลาต่อมาอีกด้วย
ในทางโครงประพันธ์ของเรื่อง นวนิยายล่องไพร มีลักษณะเดียวกับเรื่องการผจญภัยในป่าที่ลี้ลับและเต็มไปด้วยภยันตรายอันเปรียบเสมือนสูตรสำเร็จโดยทั่วไป กล่าวคือตัวละครจะต้องเดินทางไปในที่ที่เต็มไปด้วยอันตราย ต้องเผชิญหน้ากับอันตรายและเรื่องราวลี้ลับนานัปการ แต่ทว่าในที่สุดก็จะถึงจุดหมายปลายทางแล้วได้เดินทางกลับอย่างปลอดภัย
ได้มีผู้ทำการศึกษาวิจัยแนวการดำเนินเรื่องของนวนิยายผจญภัยในป่าลักษณะนี้อย่างเปรียบเทียบ ผลที่พบก็คือส่วนใหญ่ล้วนได้รับอิทธิพลมาจากผลงานของเซอร์เฮนรี่ ไรเดอร์ แฮกการ์ด นักเขียนชาวอังกฤษผู้สร้างสรรค์นวนิยายผจญภัยไว้ประมาณกว่า ๔๐ เรื่อง แต่ที่เป็นงานชิ้นเยี่ยมจริงๆและเป็นที่ยอมรับกันไปทั่วโลกย่อมได้แก่ เรื่อง She และ King Solomon’s Mine (ปี ค.ศ.๑๘๘๖ นายเตียง ศิริขันธ์ แปลเป็นไทยให้ชื่อว่า สมบัติพระศุลี ) แฮกการ์ดเขียนเรื่องหลังนี้ขึ้นจากเค้าความในเรื่องโบราณสถานแห่งซิมบับเว ตามคำเล่าลือของชนพื้นเมืองอาฟริกาใต้เกี่ยวกับเรื่องราวของขุมทรัพย์โซโลมอน ตัวละครหลักประกอบด้วย พรานผู้นำทาง(อัลลัน ควอเตอร์เมน) นายจ้าง(เซอร์เฮนรี่ เคอร์ติส) เพื่อนของนายจ้าง(กัปตันจอห์น กู๊ด) พรานป่าที่อาสาเดินทางร่วมไปด้วย(อัมโบปา หรือ อิกโนริ) และผู้สูญหาย(จอร์จ เคอร์ติส หรือเนวิลส์) การดำเนินเรื่องเป็นอย่างการเล่าย้อนหลังโดยตัวเอก ในเรื่องการเดินทางไปยังดินแดนลี้ลับกูกัวแลนด์ที่ๆเป็นที่ซ่อนขุมทรัพย์ ระหว่างนั้นมีการเผชิญกับภัยจากธรรมชาติและสัตว์ร้าย
ในเรื่อง ล่องไพร นั้นเป็นการเดินทางเข้าไปในป่าประเทศไทยและเพื่อนบ้านของคณะบุคคล มีความเกี่ยวข้องของสัตว์ป่า ภัยธรรมชาติ และเรื่องลี้ลับในป่า โดยการเล่าผ่านมุมมองของพรานนำทางคือ ศักดิ์ สุริยัน ซึ่งเป็นนักนิยมไพรสมัครเล่น ที่เป็นชายวัยกลางคน อายุประมาณ ๕๐ ปี ชอบเข้าป่าล่าสัตว์ อันเป็นภาพจำลองของผู้เขียนคือ มาลัย ชูพินิจ เอง ส่วนคณะเดินทางประกอบด้วย ตาเกิ้น พรานคู่ใจของศักดิ์ ซึ่งเป็นบุคคลมีตัวตนจริงๆ เช่นกัน ชื่อว่า เกิน เคยให้สัมภาษณ์สื่อหลายครั้ง เป็นคนจงรักภักดีและซื่อสัตย์ต่อศักดิ์ สุริยันมาก มีบุคลิกขี้เล่น ฉลาดแกมโกง ซื่อสัตย์ ยิงปืนแม่นและแกะรอยเก่ง ร.อ.เรือง ยุทธนา เพื่อนสนิทของพรานนำทางที่เริ่มรู้จักกันตั้งแต่เริ่ม ล่องไพร ตอนแรก
เรื่องล่องไพรนับว่าเป็นนวนิยายผจญภัยที่ยาวและสนุกสนานที่สุดซึ่งยากที่จะหานวนิยายอื่นมาเทียบเท่าได้ จนกระทั่งปัจจุบันล่องไพรจัดพิมพ์เป็นชุดมีทั้งหมด ๑๙ ตอน รวมจำนวนเล่ม ๑๔ เล่ม ดังนี้
  • อ้ายเก เป็นเรื่องตามล่ากระทิงดุ,
  • งาดำ การเดินทางไปเมืองลับแลเพื่อตามติดตามช้างงาดำที่หนีการไล่ล่าเข้าไป,
  • มนุษย์นาคา-หุบผามฤตยู-แดนสมิง เป็น ๓ ตอนที่ต่อเนื่องกัน ว่าด้วยมนุษย์เผ่านาคาจิรีที่กินคน มีเรื่องของเสือสมิง ที่เป็นครึ่งคนครึ่งเสือ และปลาปิรันย่าในแม่น้ำ,
  • ป่าช้าช้าง การด้นหาป่าช้าช้างที่มีงาช้างมากมาย,
  • เจ้าแผ่นดิน การตามล่ากระทิงโทนบาดเจ็บ,
  • จามเทวี การค้นหาจามเทวีและจามนคร ได้พบกับคนรู มนุษย์วารนรและไดโนเสาร์,
  • เจ้าป่า เป็นการค้นหานักพฤกษศาสตร์ผู้หายสาบสูญไปในป่าลึก,
  • ตุ๊กตาผี การเดินทางเพื่อสืบหาความจริงเรื่องโยคีลึกลับที่สายคนให้เป็นตุ๊กตาหิน,
  • มนุษย์หิมพานต์ การค้นหามนุษย์ยักษ์ที่เฝ้าบ่อเพชร,
  • เมืองลับแล การค้นหาเมืองลับแลชื่อสิเห ปกครองโดยนางพญาโสมประภา,
  • มดแดง เป็นการผจญภัยของตาเกิ้นในวัยหนุ่มเรื่องการฆ่าเสือโดยไม่ใช้อาวุธปืน,
  • พรายตะเคียน ตาเกิ้นในวัยหนุ่มค้นพบความจริงเรื่องหญิงสาวที่ตายกลายเป็นปิศาจต้นตะเคียน,
  • เสือกึ่งพุทธกาล เป็นเสือที่ควบคุมโดยชีปะขาว การเดินทางย้อนกลับไปสู่ยุคน้ำแข็ง และการสังหารเสือด้วยกระสุนชุบน้ำมนต์,
  • เทวรูปชาวอินคา การค้นหานครปาฮัวซึ่งสืบเชื้อสายมาจากขาวเผ่าอินคา พบวิหารสุริยเทพซึ่งสร้างขึ้นด้วยทองคำ,
  • วิมานฉิมพลี นกอินทรีย์ยักษ์บินไล่จับผู้หญิง,
  • ผีตองเหลืองคนสุดท้าย การเดินทางค้นหานักมานุษยศาสตร์เยอรมันที่หายไป,
  • ทางช้างเผือก ตามล่าช้างเผือกที่อาละวาดฆ่าพรานป่าตาย
ในนวนิยาย ล่องไพร ทั้ง ๑๖ ตอน ยกเว้นเรื่อง เจ้าแผ่นดิน มดแดง และพรายตะเคียน ซึ่งเป็นเรื่องเล่าของตาเกิ้นในวัยหนุ่ม จะดำเนินความคล้ายลึงกัน กล่าวคือมีสาเหตุให้พรานกับคณะต้องเข้าไปในป่า พบกันอันตรายต่างๆแล้วสามารถเดินทางกลับออกมาได้อย่างปลอดภัย โดยอาจพบกับเมืองหรือชนเผ่าพื้นเมือง และต่อสู้กันหรือช่วยกันต่อสู้กับศัตรูของชนเผ่านั้น ส่วนรายละเอียดนั้นมีความแตกต่างกันไปตามท้องเรื่อง เชื่อกันว่าสาระหลักและรายละเอียดรองๆ ลงไป ส่วนหนึ่งผู้เขียนเรียบเรียงขึ้นจากเรื่องเล่าข้างกองไฟระหว่างแรมคืนในป่าที่พรานและนักนิยมไพรมักเล่าขานสู่กันฟัง ท่ามกลางราตรีที่มืดมิด
เช่นเดียวกับ เรื่อง สมบัติพระศุลี ของ เซอร์เฮนรี่ ไรเดอร์ แฮกการ์ด ล่องไพร เป็นนวนิยายผจญภัยที่ไม่มีนางเอก ศักดิ์ สุริยัน นั้นไม่มีคนรักหรือภรรยา แม้ว่าล่องไพรหลายๆตอนจะมีตัวละครที่เป็นหญิงร่วมเดินทางผจญภัยไปด้วยกัน เช่น วัลลภา ในตอน เจ้าป่า ดร.บรันฮิลล์ ในตอน ทางช้างเผือก แต่เมื่อการผจญภัยสิ้นสุดลงก็มีการแยกย้ายกันไปโดยไม่ได้หวนกลับมาสานต่อความสัมพันธ์กันอีก
พนมเทียน หรือฉัตรชัย วิเศษสุวรรณกุล เคยให้สัมภาษณ์ถึงอิทธิพลของงานชุด ล่องไพร ที่มีต่อตนเอาไว้ตอนหนึ่งว่า “ที่ผมเขียนเพชรพระอุมานี่ ภายหลังจากครูมาลัยซึ่งเป็นคนรุ่นอาของผม ท่านได้เสียชีวิตไปแล้ว จึงเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา ถ้าหากท่านยังมีชีวิตอยู่ ผมก็ยังไม่กล้าเขียน เพราะเหตุว่าเราเป็นนักเขียนประเภทเดียวกัน แล้วเราเป้นนักเขียนรุ่นอาวุโสต่ำกว่าอะไรแบบนี้ เราจะไม่ทำการอะไรแบบไปวัดรอยเท้าผู้ใหญ่หรืออะไร...” แม้ก่อนหน้านั้นในการให้สัมภาษณ์คราวเดียวกัน เขาจะเปรียบเทียบ ล่องไพร กับ เพชรพระอุมา ว่า “ยิ่งไปกันคนละเรื่องเลย ไม่ใช่เรื่องของผม ล่องไพรเป็นเรื่องของน้อย อินทนนท์ ล่องไพรเป็นเรื่อของการล่าสัตว์ในป่าโดยเฉพาะ ไม่ได้ไปตามคนหาย”