กลิ่นจากโรงงานอาหารสัตว์นับเป็นปัญหาสำคัญที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนและชุมชนรอบข้าง
โดยเฉพาะในกระบวนการผลิตอาหารสัตว์นั้นมีวัตถุดิบหลายชนิดที่ส่งกลิ่นรบกวน
ซึ่งสามารถแพร่กระจายได้ไกลหลายกิโลเมตร และมักมีข่าวให้เห็นกันบ่อยครั้ง
เกี่ยวกับเรื่องการร้องเรียนเกี่ยวกับโรงงานที่ส่งกลิ่นรบกวน
โดยล่าสุดทีมนักวิจัยของโรงเรียนนาบ่อคำวิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 41
โดย
อาจารย์กฤษณะ สาลีเจริญ และอาจารย์อรวรรณ บุญรอด
ซึ่งเคยสร้างชื่อคว้ารางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี ในการประกวดนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีระดับประเทศครั้งที่ 3
จัดโดยวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
และยังเป็นหัวหน้าโครงการหมู่บ้านนาโนเทคโนโลยีข้าวและมันสำปะหลังพระจอมเกล้าลาดกระบัง
ได้รับการติดต่อจาก บริษัท เฮกซ่า แคลไซด์ เนชั่น จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตอาหารสัตว์
ตั้งอยู่ที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
น.สพ.ชูโชค ใยบัวเทศ ผู้จัดการโรงงาน ได้เล่าให้ฟังว่าโรงงานแห่งนี้ผลิตอาหารสัตว์หลากหลายชนิด อาทิ อาหารปลา อาหารกบ อาหารแมว เป็นต้น ตลอดระยะเวลาที่เปิดโรงงานมาร่วม 20 ปี มีการร้องเรียนจากชาวบ้านและชุมชนรอบๆ โรงงานถึงปัญหากลิ่นที่มาจากกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งทางโรงงานเองไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามหาทางแก้ไขปัญหามาโดยตลอด โดยในระยะแรกได้มีการนำคลอรีน (Chlorine) ที่ใช้ในการผลิตน้ำประปามาใช้ในการกำจัดกลิ่น ผลที่ตามมาคือก๊าซคลอรีนทำให้อุปกรณ์และส่วนประกอบของโรงงานเป็นสนิม ได้รับความเสียหาย เนื่องจากคลอรีนมีฤทธิ์กัดกร่อนโลหะ จึงได้เปลี่ยนมาใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มที่มีกลิ่นหอมแทน โดย
ติดต่อบริษัทผู้ผลิตยี่ห้อหนึ่งทำการผลิตให้โดยเฉพาะ แต่ผลที่ได้ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ยังมีการร้องเรียนเป็นระยะๆ ต่อมา ได้มีการนำจุลินทรีย์ทนความร้อนที่ใช้กำจัดของเสียเข้ามาใช้เพื่อการกำจัดกลิ่นแต่ผลที่ได้รับก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ กระทั่งได้ศึกษาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตพบว่ามีการนำอนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์มาใช้ในการดับกลิ่นได้ จึงได้ติดต่อกับ อ.กฤษณะ สาลีเจริญ เพื่อขอคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาที่ประสบอยู่โดยให้ข้อมูลของโรงงานที่คิดว่าเป็นประโยชน์เพื่อการศึกษาค้นคว้า และได้ร่วมกันวางแผนเพื่อหาทางแก้ไขปัญหากลิ่นที่เกิดจากกระบวนการผลิตอาหารสัตว์
ด้าน อ.กฤษณะ สาลีเจริญ เปิดเผยว่า การกำจัดกลิ่นที่เกิดจากกระบวนการผลิตอาหารสัตว์จากโรงงานนั้น วิธีที่ได้รับความนิยมมากคือการใช้ Wet Scrubber ซึ่ง Wet Scrubber เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับกำจัดแก๊สและไอ (Gas and Vapor) ตลอดจนอนุภาคที่มีขนาดเล็ก โดยใช้ของเหลว เช่น น้ำ เป็นตัวดักจับ ด้วยการพ่นฉีดของเหลวหรือน้ำให้เป็นละอองฝอยขนาดเล็กให้กระจายไปปะทะกับกระแสแก๊ส โดยการกระทบจากความเฉื่อยซึ่งเป็นกลไกหลักในการสกัดกั้นและการแพร่ ทั้งนี้ สครับเบอร์ (Scrubber) หรือ Wet Scrubber มีด้วยกันหลายชนิดแต่ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายคือ สครับเบอร์แบบสเปรย์ (Spray Tower Scrubber) และสครับเบอร์แบบมีเดีย (Packed Bed Scrubber) ระบบสครับเบอร์ (Scrubber) มีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ พัดลมดูดอากาศ (Exhaust Fan) : ทำหน้าที่ดูดอากาศเสีย
เข้าสู่สครับเบอร์ (Scrubber) ปั๊ม (Circulation Pump) : ทำหน้าที่ดูดน้ำจากถังหมุนเวียนน้ำไปสู่หัวฉีด (Nozzle) และฉีดเป็นละอองฝอยไปทั่วทั้งสครับเบอร์ โดยตัวสครับเบอร์ (Scrubber Main Body) ประกอบไปด้วย 1.ตัวเพิ่มพื้นที่ในการกระจายตัวของแก๊ส (Scrubber Tower Packing) ทำหน้าที่ในการช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวในการสัมผัสกันระหว่างแก๊สกับของเหลว 2.หัวฉีดสเปรย์ (Spray nozzle) ทำหน้าที่ฉีดน้ำให้ทั่วถึงอย่างสม่ำเสมอภายในตัวสครับเบอร์ (Scrubber) 3.ตัวดักจับละอองน้ำ (Mist Separator) ทำหน้าที่ดักจับละอองน้ำที่เกิดจากการฉีดสเปรย์ในสครับเบอร์ (Scrubber) ไม่ให้หลุดออกไปภายนอกเพราะจะนำพาแก๊สเสียปนออกไปด้วย ถังหมุนเวียนน้ำ (Circulation Tank) : ทำหน้าที่เก็บกักน้ำไว้สำหรับหมุนเวียนใช้ในระบบสครับเบอร์ (Scrubber) เป็นอุปกรณ์สำหรับดักจับแก๊สเสีย โดยหลักการทำงานของสครับเบอร์ (Scrubber) ตาม Flow Diagram เป็นดังนี้ พัดลม (Fan) จะดึงแก๊สเสียจากแหล่งกำเนิดเข้าสู่สครับเบอร์ (Scrubber) ซึ่งมีน้ำบรรจุอยู่ในส่วนของ Circulation Tank จากนั้น Pump ก็จะทำการสูบน้ำจาก Circulation Tank ขึ้นไปยังส่วนบนของสครับเบอร์ (Scrubber) และปล่อยให้น้ำฉีดสเปรย์เป็นละอองฝอยด้วย Spray nozzle ซึ่งละอองน้ำที่ฉีดลงมาจะไหลในทิศทางที่สวนกันกับแก๊ส และทำการดักจับแก๊สเสีย ส่วนของน้ำที่ทำปฏิกิริยากับแก๊สจะมีการปล่อยออกจากสครับเบอร์ (Scrubber) โดยผ่าน Over flow ดังนั้นจึงต้องมีการเติมน้ำ Fresh Water เข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาสมดุลของน้ำภายในระบบและเพื่อเจือจางน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากการบำบัดแก๊ส โดยในกระบวนการทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการที่โรงงานอุตสาหกรรมโดยทั่วไปมีอยู่แล้ว เพียงแต่การใช้น้ำเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้กลิ่นหมดไปได้ ทางทีมงานจึงได้มีการเติมอนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์เพื่อทำให้การกำจัดกลิ่นมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อ.อรวรรณ บุญรอด กล่าวเสริมว่า นอกจากการกำจัดกลิ่นที่มีประสิทธิภาพแล้ว จากการตรวจสอบระบบ สครับเบอร์ (Scrubber) หลังจากการใช้อนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์ พบว่าชิ้นส่วนของมีเดีย (Media) จากเดิมที่จะมีความสกปรกมากนั้น แต่หลังจากใช้อนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์ปรากฏว่ามีความสะอาดเหมือนใหม่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นผลดีตรงที่ไม่ต้องเปลี่ยนมีเดีย (Media) ทำให้ประสิทธิภาพมีมากขึ้น และการตรวจบริเวณคูลลิ่งทาวเวอร์ จากเดิมที่เคยพบคราบสกปรกและตะไคร่น้ำ โดยหลังจากการใช้อนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์ผสมลงในกระบวนการบำบัด ก็ไม่พบคราบสกปรกและตะไคร่น้ำอีกด้วย นับว่าเป็นนวัตกรรมสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ระบบสครับเบอร์ (Scrubber) และมีคูลลิ่งทาวเวอร์ เพราะอนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์สามารถช่วยทั้งการกำจัดกลิ่นและยังทำความสะอาดระบบไปในครั้งเดียวกัน ทำให้ไม่เสียค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมใดที่ต้องการข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่โรงเรียนนาบ่อคำวิทยาคม โทร.055-763308 หรือติดต่อโดยตรงที่ อ.กฤษณะ และอาจารย์อรวรรณ โทร.08-9272-6540, 08-7843-6036 โดยทีมวิจัย ยินดีให้ข้อมูลและคำปรึกษาโดยละเอียดกับโรงงานที่ประสบปัญหา ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด